วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันตรุษจีน วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน


    ตรุษจีน (จีนตัวเต็ม: 春節; จีนตัวย่อ: ; พินอิน: Chūnjíe ชุนเจี๋ย) เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีน เพราะว่าชาวจีนถือเอา วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับวันสงกรานต์คือวันปีใหม่ของคนไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้มาก มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก 
    ตรุษจีน ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า"เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ"เพราะเป็นการย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง วันตรุษจีนเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 เดือน 1 (จีน: 正月, พินอิน: Zhēngyuè) ในปฏิทินจีนโบราณและสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ คืนก่อนตรุษจีนเป็นวันที่ครอบครัวชาวจีนมารวมญาติกันเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า ฉูซี่ (จีน: 除夕, พินอิน:Chúxī) หรือ "การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน" เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า "วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ"
จุดกำเนิดของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าเป็นประเพณีที่มีมานานนับพันๆปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองการขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ จนต่อมา วันตรุษจีนจึงกลายเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน ในหลายประเทศและดินแดนที่มีประชากรจีนอาศัยอยู่ อย่างเช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย รวมทั้งชุมชนชาวจีนที่อื่น ตรุษจีนถูกมองว่าเป็นวันหยุดสำคัญสำหรับชาวจีนและได้มีอิทธิพลต่อการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่จันทรคติของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมทั้งเกาหลี ภูฎาน และเวียตนาม
ในประเทศจีน ธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้นหลากหลายมาก โดยผู้คนจะเริ่มซื้อของขวัญ ข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และทำความสะอาดครั้งใหญ่ เพื่อปัดกวาดโชคร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดีออกไป ด้วยหวังให้โชคดีเข้ามาภายในบ้าน มีการประดับประดาทั้งประตู และหน้าต่าง ด้วยกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้โชคดี อายุยืนยาว มั่งคั่งร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ
ในคืนก่อนวันตรุษจีน อาหารค่ำจะเป็นการกินเลี้ยงกับครอบครัว ซึ่งเป็นอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายเป็นมงคลทั้งสิ้น เช่น หมู หมายถึง ความมั่งคั่ง กินดีอยู่ดี ไก่ หมายถึง ความขยันขันแข็ง เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็ด หมายถึง ความสะอาด สิ่งบริสุทธิ์ ปลา หมายถึง ความสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้  กุ้ง หมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข ฯลฯ
เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กจะทักทายบิดามารดาของตนโดยอวยพรพวกท่านให้มีสุขภาพดีและพูดสวัสดีปีใหม่ และได้รับเงินอั่งเปา หรือ “แต๊ะเอีย” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของ วันตรุษจีน โดยการให้อั่งเปานี้ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่จะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง จากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกจากบ้านเพื่อทักทายสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติมิตร และเพื่อนบ้าน หรือไปเที่ยวทำบุญกัน
ประเพณีตรุษจีนนั้น ถือเป็นการสมานฉันท์สามัคคี ลืมความบาดหมาง และการส่งความปรารถนาดี พร้อมความสุขแก่ทุกคนอย่างจริงใจ

วันตรุษจีนหรือวันขี้นปีใหม่ของชาวจีนในปี 2556 นี้ ตรงกับวันที่ 10 ก.พ. 56  
ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่สุด แบ่งเป็น 3 วัน คือ
วันจ่าย (วันศุกร์ที่ 8 ก.พ. 56
เป็นวันซื้อของเตรียมการสำหรับตรุษจีน อันได้แก่ ของคาว ของหวาน ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง เป็นต้น
วันไหว้ (วันเสาร์ที่ 9 ก.พ. 56
ช่วงเช้า ไหว้เจ้าที่ ช่วงสายไม่เกินเที่ยงวัน เป็นการไหว้บรรพบุรุษ                
ช่วงค่ำ ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) ขอพรให้ร่ำรวยยิ่งๆขึ้นไป
วันถือ (วันอาทิตย์ที่ 10 ก.พ. 56) คือวันขึ้นปีใหม่ 
มีการปิดกระดาษตัวหนังสือคำมงคลเพื่ออวยพรรวมทั้งการมอบเงินทองใส่ซองสีแดงมาแจกเป็นอั่งเปา เพื่อให้ลูกหลานที่ได้รับประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในปีใหม่
รายละเอียดผังของการไหว้เจ้าที่ ในช่วงเช้า มีดังนี้
        1. กล่องใหญ่วางรับน้ำหนักได้/กล่องวางองค์เจ้าที่ (กว้างประมาณเจ้าที่)
2. องค์เจ้าที่
3. แจกันดอกไม้ (ดอกไม้สีแดง)
4. เทียนแดง
5. กระถางธูปใส่ธูปเล็ก 5 ดอก(ใส่ข้าวสาร+เมล็ด 5 อย่าง)ปักกิมฮวย 2 อัน
    (ขนนกยูง)
6. ถ้วยน้ำชา 5 ถ้วย
7. ถ้วยเหล้า 5 ถ้วย
8. ชุดผลไม้ 5,7,9 อย่าง เช่นส้ม,องุ่น,สาลี่,แอปเปิ้ล,กล้วย,สัปปะรด,
    ลูกพลับ,ชมพู่,แก้วมังกร
9. ชุดของคาว 3,5,7 อย่าง เช่นไก่,เป็ด,หมู,ปลา,กุ้ง,ปู,ปลาหมึกแห้ง,
    ไข่เป็ดย้อมสีแดง
10. ชุดขนมมงคล 5,7,9 อย่าง เช่นขนมเข่ง,ขนมเทียน,จันอับ,ขนมเปี๊ยะ,
      ซิ่วท้อ,ถ้วยฟู,กุย่ฉ่าย
11. หมี่ซั่ว
12. ชุดกระดาษไหว้เจ้าที่
13. ฟักทอง 5 ลูก
        รายละเอียดของผังการไหว้บรรพบุรุษ ในช่วงสาย ไม่เกินเที่ยง มีดังนี้   
        1. ข้าวสวย , ช้อน+ตะเกียบใส่ถ้วย 4 ถ้วย
2. สาคูแดง 4 ถ้วย
3. ชุดกับข้าว 9 อย่าง ผัดลูกชิ้นกลม,ลูกชิ้นรักบี้,ผัดตับต้นกระเทียม,
    ต้มจืดเจไฉ่,ต้มจืดหน่อไม้จีน,หอยจ๊อ,แฮ่กึ๋น
4. ชุดกระดาษไหว้บรรพบุรุษ
5. ชุดขนมถ้วยฟู
6. ชุดของคาว 3,5,7 อย่าง เช่นไก่,เป็ด,หมู,ปลา,กุ้ง,ปู,ปลาหมึกแห้ง,
    ไข่เป็ดย้อมสีแดง
7. ชุดขนมมงคล 5,7,9 อย่าง เช่นขนมเข่ง,ขนมเทียน,จันอับ,ขนมเปี๊ยะ,
    ซิ่วท้อ,ถ้วยฟู
8. ขนมกุยฉ่าย
9. ชุดผลไม้ 5,7,9 อย่าง เช่นส้ม,องุ่น,สาลี่,แอปเปิ้ล,กล้วย,สัปปะรด,
    ลูกพลับ,ชมพู่,แก้วมังกร
10.กระถางธูปใส่เมล็ดพันธ์ุ 5 อย่าง ปักธูปใหญ่ 3 ดอก  
11. แจกันดอกไม้
12. เทียนสีแดง

 
 รายละเอียดของผังการไหว้ต้นตระกูลจีน ในช่วงบ่าย มีดังนี้
1. กระถางธูปเล็ก 3 ดอก 
2. กระถางดอกไม้
3. เทียนแดง
4. ชุดกระดาษเงินกระดาษทอง ของใช้ที่เป็นกระดาษทั้งหมด
5. ข้าวสวย  5 ถ้วย
6. ชุดกับข้าว 9 อย่าง ผัดลูกชิ้นกลม,ลูกชิ้นรักบี้,ผัดตับต้นกระเทียม,
    ต้มจืดเจไฉ่,ต้มจืดหน่อไม้จีน,หอยจ๊อ,แฮ่กึ๋น
7. ชุดผลไม้ 5,7,9 อย่าง เช่นส้ม,องุ่น,สาลี่,แอปเปิ้ล,กล้วย,สัปปะรด,
    ลูกพลับ,ชมพู่,แก้วมังกร
8. ชุดของคาว 3,5,7 อย่าง เช่นไก่,เป็ด,หมู,ปลา,กุ้ง,ปู,ปลาหมึกแห้ง,
    ไข่เป็ดย้อมสีแดง
9. น้ำอัดลม,เหล้า,เบียร์
10. น้ำเปล่า 3 ขวด
11. อาหารสำเร็จรูป/เครื่องดื่ม
12. ชุดขนมถ้วยฟู
13. ชุดขนมมงคล 5,7,9 อย่าง เช่นขนมเข่ง,ขนมเทียน,จันอับ,ขนมเปี๊ยะ,
      ซิ่วท้อ,ถ้วยฟู


รายละเอียดของผังการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย
        1. กล่องโต๊ะสูงคลุมผ้าสีแดง
2. องค์เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย/รูป
3. แจกันดอกไม้
4. ชุดกระดาษไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย 1 ชุด วาง 2 ข้าง(เทียงเถ่าจี้วางปูรองของไหว้),
             ซองอั่งเปา,อั่งเทียบเขียนชื่อทุกคนในครอบครัวลงไป
5. กระถางธูปใส่ธูปเล็ก 5 ดอก(ใส่ข้าวสาร+เมล็ด 5 อย่าง)ปักกิมฮวย 2 อัน
    (ขนนกยูง)
6. เทียนสีแดง
7. ถ้วยน้ำชา 5 ถ้วย
8. ถ้วยใส่ใบชาแห้งอย่างเดียว 5 ถ้วย
9. สาคูแดง 5 ถ้วย
10.ชุดของเจไฉ่ 5 อย่าง เห็ดหอม,ฟองเต้าหู้,วุ้นเส้น,เห็ดหูหนู,ดอกไม้จีน
11. ถ้วยน้ำตาลทรายขาว(ถ้วยพูน)
12. ถ้วยใส่ข้าวสาร(ถ้วยพูน)
13. ผลไม้มงคล ส้ม 1 ถาด
14.ขนมจันอับ 1 จาน
15. ฟักทอง
 ที่มาข้อมูล:วิกิพีเดีย,กูร์เมต์ มาร์เก็ตและโฮม เฟรช มาร์ท
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น