วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

ชีวิตกับสมาธิ

                              สิบนิ้วน้อมประณมก้มลงกราบ                ซึ้งกำซาบคุณพ่อแม่แผ่ไพศาล
                              ซึ้งในคุณเมตตาครูอาจารย์                    ที่พร่ำขานบ่มจิตนิจนิรันดร์
                              ขอตั้งจิตคิดหวังดังประสงค์                    หมายจำนงค์สิ่งดีแท้ไม่แปรผัน
                              ดำเนินตามครรลองดีเพื่อชีวัน                ชั่วกัปป์กัลป์ซึ้งแจ้งหมด...รสพระธรรม
         เนื่องในโอกาสเปิดศาลาปฏิบัติกรรมฐาน"อัปปมัญญาพรหมวิหาร"  และครบรอบวันคล้ายวันเกิดของพระอาจารย์พระมหาฉัตรชัย  รักขิตฺจิตโต  วันที่  ๑๑  กันยายน  ๒๕๓๗ นี้  ข้าพเจ้ามีบทความที่เป็นเกร็ดความรู้ และข้อธรรมะที่ได้รับจากการอ่าน จากการปฏิบัติ และจากคำสอนของครูบาอาจารย์หลายท่าน ในเรื่องชีวิตกับสมาธิ  หรือสมถะกรรมฐาน มาแบ่งปันพอสังเขป ดังนี้
         ชีวิตของข้าพเจ้า.ถือว่าโชคดี ที่ได้เกิดมาในครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจธรรมะ และเป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่การเกิดก็เป็นทุกข์ ดังคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า" ชาติปิ ทุกขา ชราปิ ทุกขา มรณังปิ ทุกขา "  แม้ในสมัยพุทธกาล สาวกของพระพุทธเจ้าเจอกันก็จะทักทายว่า " ขมนิยะ"
แปลว่า " ยังทนได้หรือ " เพราะชิวิตนี้เป็นทุกข์ เกิดมาก็เป็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้ ชีวิตจึงต้องหาหลักยึด หรืออุบายคำสอนที่จะหลีกเลี่ยงทุกข์ ด้วยการทำความดีในหลากหลายรูปแบบ
         สมาธิ..ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสมาธิ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ ในที่สุด สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต สมถะกรรมฐาน มีความหมายว่า การกระทำหรืออุบาย เพื่อให้เกิดความสงบทางใจ โดยย ังไม่พิจารณาอะไรหรืออย่างใดทั้งสิ้น
         หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านสอนว่า " การทำสมาธิหรือภาวนา ก็คือ วิธีอบรมใจให้ได้รับความสงบ เพราะเราไม่เคยสงบตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ใจที่ไม่ได้รับความสงบก็จะไม่มีพลัง ที่จะเกิดความรู้ คือ ความนึกคิดอะไรต่างๆ ให้เห็นของจริงได้ เหตุนั้นการทำสมาธิหรือภาวนา จึงเป็นการสร้างพลังใจให้สงบนิ่งอยู่ในที่เดียว "
         ข้าพเจ้าและครอบครัว ได้มาผึกสมถะกรรมฐานในแนวอัปปมัญญาพรหมวิหาร กับพระอาจารย์พระมหาฉัตรชัย รักขิตจิตโต เมื่อก่อนเข้าพรรษา ปี ๒๕๓๖ ผลของการปฏิบัติก็เจริญก้าวหน้าด้วยดี แม้จะมีติดขัดและถอยหลังบ้าง ก็เป็นเพราะไม่ค่อยมีความเพียรอย่างสมำ่เสมอ
         ข้าพเจ้าได้เคยอ่านหนังสือธรรมะ ทราบว่ากรรมฐานมีอยู่ ๔๐ อย่างด้วยกัน แต่ที่เป็นอารมณ์ของ กรรมฐาน ทำเพื่อให้ใจสงบได้ฌาน มีเพียง ๓๐ อย่าง คือ กสิณ ๑๐ อานาปาณสติ ๑ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ อรูป ๔ นอกนั้นเป็นเพียงข่มนิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าผู้มีปัญญาก็สามารถทำให้เป็นบาทของวิปัสนาได้
         เมื่อได้ฌาน ก็จะเป็นทางไปเป็นพรหมต่างๆ ที่มีอายุยืนตั้งแต่ ๑/๔ มหากัปป์ จนถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์ มหากัปป์นั้นยาวนานเหลือที่จะคณานับได้ อุปมาเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบกว้างด้านละ ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ เวลา ๑๐๐ ปี มีเทวดานำเอาผ้าทิพย์อันละเอียด มาปาดไปทีหนึ่ง จนกระทั่งภูเขานั้นเสมอกับพื้นดิน เรียกว่ามหากัปป์ หรืออุปมาเหมือนสระใหญ่ กว้างด้านละ ๑ โยชน์ทั้ง ๔ ด้าน ลึก ๑ โยชน์ เวลา ๑๐๐ ปี มีเทวดานำเมล็ดผักกาด ๑ เมล็ดใส่ลงในสระใหญ่นั้น จนกระทั่งเต็มสระเสมอพื้นดิน เรียกว่ามหากัปป์
         พรหมจะอยู่จนสิ้นอายุ แล้วจะกลับมาปฏิสนธิเป็นเทวดาหรือมนุษย์ แต่ไม่ตกอบายภูมิเพราะอำนาจ ฌานรักษาไว้ ต่อเมื่อทำความชั่วในเทวดาหรือมนุษย์จึงตกอบายภูมิ เมื่อพรหมจุติลงมาปฎิสนธิเป็นมนุษย์นั้น ย่อมเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญา ประกอบด้วยพรหมวิหาร๔ ชอบอิสระ ยินดีในที่สงบสงัด ชอบทำ กรรมฐาน ทั้งนี้เพราะอำนาจบารมีที่ได้บำเพ็ญฌานมาเป๋นปัจจัยช่วยอุปถัมภ์ให้เป็นไป ทำอะไรก็มักจะได้ดีเป็นพิเศษเสมอ ฉะนั้น พวกเราทุกคนพึงตั้งใจให้ถึงพร้อมด้วยความเพียร ตามคำสอน และแนวปฏิบัติอัปปมัญญาพรหมวิหาร ของพระอาจารย์พระมหาฉัตรชัย รักขิตจิตโต เพื่อการพ้นทุกข์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม และเพื่อเป็นพลวปัจจัยอุปนิสัยนำส่งให้กลับไปเป็นพรหม ของพวกเราทุกคน สาธุ.!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น