วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไหว้พระ 5 มหาบูชาสถาน


 วันนี้ขอนำท่านไปเที่ยวพม่า หรือสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งถือเป็นเพชรเม็ดงามแห่งเอเชียที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชมความงามแบบธรรมชาติและศิลปะวัฒนธรรมที่งดงามถวิลหาและอยากจะเข้าไปค้นหาสัมผัสดินแดนมหัศจรรย์แห่งเจดีย์ทองคำและพลังศรัทธาที่มั่นคงในพุทธศาสนา ชาวพม่าทุกคนมีความตั้งใจว่าเกิดมาในชาตินี้ก็ขอให้ได้นมัสการ 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสูงสุด จึงขอแบ่งปันเรื่องราวที่เป็นมงคลกับชีวิตเกี่ยวกับ 5 มหาบูชาสถาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้


. พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
          พระมหาเจดีย์ชเวดากอง หรือเจดีย์แห่งเมืองดากองหรือตะเกิง เป็นศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพม่า ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า มีความสูง
99 เมตร(326 ฟุต) ภายในองค์พระมหาเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น โดยความหมายว่า ชเว แปลว่า ทอง, ดากอง เป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง แปลรวมว่า ทองแห่งเมืองดากอง 
          ตามประวัติกว่า 2,500 ปีที่แล้ว ในตำนานเล่าว่า ได้มีพ่อค้าชาวมอญ 2 พี่น้อง ชื่อว่า ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ได้เดินทางไปค้าขายยังประเทศอินเดีย มีโอกาสได้ถวายข้าวสัตตูผงแก่พระพุทธเจ้าและถวายตัวเป็นปฐมอุบาสกในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาให้ 8 เส้นเพื่อนำกลับไปบูชาในดินแดนบ้านเกิด เมื่อเดินทางถึงพระเจ้าโอกะลาปะได้ทรงประกอบพิธีต้อนรับพระเกศธาตุอย่างยิ่งใหญ่ ทรงสร้างเจดีย์ที่มีความสูง 20 เมตร(66 ฟุต)บนเนินเขาตะเกิง บรรจุพระเกศาธาตุไว้ให้ประชาชนเคารพกราบไหว้
          ด้วยกาลเวลาที่ยาวนาน องค์พระเจดีย์ได้ถูกบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง และในยุคสมัยของกษัตริย์มอญและพม่าทุกพระองค์ ได้ถือเป็นพระราชกิจสำคัญในการก่อสร้างทำนุบำรุงพระเจดีย์แห่งนี้ จนมีความสูงเท่าปัจจุบัน ในปีพ.ศ.
1996 สมัยพระนางชินสอบู กษัตรีย์ของมอญได้เริ่มธรรมเนียมถวายทองคำ เท่าน้ำหนักพระองค์คือ 40 ก.ก.เพื่อการบูรณะเจดีย์ จนกลายเป็นประเพณีที่กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงสืบทอดกันมา ปัจจุบันมีน้ำหนักทองคำร่วม 2 ตัน ส่วนบนสุดที่เป็นยอดฉัตร ได้รับการบูรณะจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี 2311 รัชสมัยพระเจ้าฉินบูชิน ทรงจัดสร้างยอดฉัตรใหม่ตามแบบพม่าแทนแบบเดิมที่เป็นมอญ ประดับด้วยอัญมณีมีค่ามากมายและระฆังทอง เงิน ทองแดง 600 ใบ
           ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดฉัตรหักตกลงมา จึงมีการบูรณะครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้ามินดง พ.ศ. 2414 (ร่วมสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5) โดยทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างฉัตรใหม่ ประดับด้วยเพชรพลอยอัญมณีล้ำค่า คิดเป็นมูลค่า 62,000 ปอนด์ในสมัยนั้น โดยเฉพาะยอดเจดีย์ประดับด้วยเพชรเม็ดใหญ่น้ำหนัก 76.6 กะรัต และที่ขอบฉัตรประดับระฆังใบเล็กถึง 5,000 ใบ ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ 2542 พุทธศาสนิกชนชาวมอญ-พม่า พร้อมใจกันเปลียนสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
          รอบๆองค์พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นลานกว้างรองรับแรงศรัทธาพุทธศาสนิกชนได้จำนวนมาก ลานกว้างด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะมีลานอธิษฐานสมปรารถนา(เป็นกระเบื้องรูปดาว)ที่ชาวพม่าเชื่อกันว่าถ้าได้มานั่งอธิษฐานขอสิ่งใดก็จะสมปรารถนา มีเจดีย์องค์เล็กรายล้อมเจดีย์และวิหารโถงทั้งสี่ทิศที่มีพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลักงดงามอ่อนช้อยด้วยศิลปะมอญ-พม่าให้สวดมนต์หรือกราบไหว้ขอพร นอก จากนั้นบริเวณลานรอบองค์พระเจดีย์ทั้ง 8 ทิศยังมีจุดให้บูชาเทวดาประจำดาวนพเคราะห์ทั้ง 8 โดยจะมีหลักป้ายบอกวันและกำลังวัน มีพระพุทธรูป รูปปั้นเทวดาและสัตว์สัญลักษณ์ ดังนี้
วันอาทิตย์         ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สัตว์สัญลักษณ์  ครุฑ        สรงน้ำ     ขัน
วันจันทร์           ทิศตะวันออก                 ..... ,, .....     เสือ            ,,    ๑๕  ขัน
วันอังคาร          ทิศตะวันออกเฉียงใต้       ..... ,, .....     สิงห์           ,,        ขัน
วันพุธ(กลางวัน) ทิศใต้                           .....,, .....      ช้างมีงา      ,,    ๑๗  ขัน
วันพุธ(กลางคืน) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ      .... ,, ....       ช้างไม่มีงา  ,,    ๑๒  ขัน
วันพฤหัสบดี      ทิศตะวันตก                    .... ,, ....       หนูหางยาว  ,,    ๑๙  ขัน
วันศุกร์             ทิศเหนือ                        .... ,, ....      หนูหางสั้น    ,,    ๒๑  ขัน
วันเสาร์            ทิศตะวันตกเฉียงใต้           .... ,, ....      พญานาค     ,,    ๑๐  ขัน
การขึ้นชมพระเจดีย์ชเวดากองได้สะดวกด้วยลิฟต์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์และ เวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงเย็นตั้งแต่ 16.00 น.จนถึง 22.00 น.เพราะจะได้ 2 บรรยากาศในการเที่ยวชมคือท้องฟ้าสดใส และแสงไฟสว่างไสว กระทบองค์พระเจดีย์เป็นสีทองสุกปลั่งพาใจให้เลื่อมใสศรัทธาและเพลิดเพลินชมความงดงามขององค์พระเจดีย์อย่างไม่รู้เบื่อ



. พระเจดีย์ชเวมอดอร์ เมืองหงสาวดี
          เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือพระธาตุมุเตา ตั้งอยู่กลางเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุรวม 2 เส้น มีอายุเก่าแก่กว่า
2,000 ปี เป็นที่เคารพสักการะของทั้งกษัตริย์ มอญ พม่า และไทย เช่น พระเจ้าราชาธิราชของมอญ พระเจ้าบุเรงนองของพม่า และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทย อีกทั้งยังเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สูงที่สุดของพม่า ด้วยความสูงถึง 374 ฟุต
          
พระธาตุมุเตา เคยพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2473 ทำให้ปลียอดของพระธาตุมุเตาหักตกลงมา แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ องค์พระธาตุไม่หักลงถึงพื้น จึงเป็นความเชื่อกันว่าหากใครได้ไปกราบไหว้องค์พระธาตุ แล้วเอาธูปไปค้ำไว้กับองค์พระธาตุที่หักลงมา จะทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำถึงที่สุด ซึ่งเปรียบเหมือนยอดพระธาตุที่ตกไม่ถึงพื้น และทำให้ชีวิตมีแต่ความมั่นคงถาวร
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจดีย์องค์นี้เป็นที่เคารพกราบไหว้ของกษัตริย์ที่สำคัญหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมาทำพิธีเจาะพระกรรณ หรือพระเจ้าบุเรงนองก่อนออกทำศึกสงครามทุกครั้งจะทรงมาสวดมนต์ขอพรและนั่งสมาธิ และสมเด็จพระนเรศวร ครั้งก่อนจะเสด็จออกจากกรุงหงสาวดีเพื่อประกาศอิสรภาพก็ทรงมากราบไหว้บูชาขอพรก่อน
          ยอดขององค์พระธาตุมุเตาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 ส่วนยอดของพระธาตุที่หักลงมาได้มีการหล่อฐานและจำลองเป็นเจดีย์ไว้ที่ด้านข้างองค์พระธาตุปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณลานทางทิศเหนือ เป็นสถานที่อธิษฐานขอพร


. พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจก์ทิโย รัฐมอญ
          พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย ในภาษามอญ หมายความว่าเจดีย์ที่มีฉัตรบนหินรูปหัวฤๅษี ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า บนยอดเขา Paung Laung ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล
3,615 ฟุต ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวน คือ มีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ โดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ 
          มีตำนานเล่าขานกันในสมัยพุทธกาลว่า ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าซึ่งได้ทรงมอบให้ไว้เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ ส่วนฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม เมื่อเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขารเต็มที จึงตั้งใจว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของเขา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ได้ช่วยเสาะหาก้อนหินจากใต้ท้องมหาสมุทร และนำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน 
          แต่บางตำนานก็เล่าว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งซ่อนพระเกศาที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งมาโปรดสัตว์ในถ้ำไว้ในมวยผมมาเป็นเวลานาน เมื่อใกล้ถึงวาระที่จะต้องละสังขารจึงตัดสินใจมอบพระเกศาให้กับ พระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของพิทยาธรกับพญานาคที่นำมาฝากให้ฤๅษีช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก แต่มีข้อแม้ว่าพระเจ้าติสสะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายศีรษะของฤๅษี โดยมีพระอินทร์เป็นผู้ช่วยค้นหาจากใต้สมุทรนำมาวางไว้ที่หน้าผา
          นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่าพระอินทร์เสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์และนำเอาพระธาตุมาแขวนไว้ให้ผู้มีบุญได้กราบไหว้ ใครได้มาสักการะก็เปรียบเสมือนได้ไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และพระธาตุอินทร์แขวนนี้ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิด(ปีจอ)ตามคติความเชื่อของทางล้านนาโบราณ ที่คนเกิดปีนี้ต้องไปนมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิต อีกทั้งชาวพม่ายังมีความเชื่อว่าการได้มาสักการะพระธาตุอินทร์แขวน 3 ครั้ง จะโชคดีประสบความสำเร็จในชีวิตทุก ๆ ด้าน


. พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง เมืองพุกาม
          พระมหาธาตุเจดีย์ชเวสิกอง เป็นเจดีย์ใหญ่สวยงาม ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวพม่าและชาวไทย ตั้งอยู่ที่เมืองพุกาม โดยชื่อ "ชเวสิกอง" มีความหมายว่า "เจดีย์ทองแห่งชัยชนะ" สร้างโดยพระเจ้าอโนรธา ใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน จนแล้วเสร็จในรัชกาลพระเจ้ากยันสิทธาแห่งอาณาจักรพุกาม ราว
960 ปีก่อน ภายในเจดีย์เชื่อว่าบรรจุพระเขี้ยวแก้วและพระสารีริกธาตุ โดยอัญเชิญมาจากลังกาบนหลังช้างเผือก พระเจ้าอโนรธาได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าช้างเผือกคุกเข่าลงที่ใดจะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น
          รูปทรงระฆังคว่ำของพระเจดีย์ชเวสิกองเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมพุกาม พื้นผิวภายนอกปิดด้วยทองคำเปลว ถูกบูรณะในสมัยต่อมาอีกหลายครั้ง แต่ปัจจุบันมีความสูงราว 60 เมตร มีลวดลายปูนปั้นอยู่ 3 แถว มีเจดีย์บริวารล้อมรอบ บริเวณโดยรอบเป็นระเบียงกว้าง มีระเบียงคตทั้ง 4 ด้านประดิษฐานองค์พระประธานยืนตามศิลปะแบบอินเดีย สูง 4 เมตร
          ความอัศจรรย์ของพระมหาธาตุชเวสิกอง คือยอดพระเจดีย์ไม่มีการใช้เหล็กเสริม และกระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่นำไปปิดส่วนยอดพระเจดีย์จะไม่ปลิวพ้นฐานสี่เหลี่ยมขององค์พระเจดีย์ ส่วนเงาพระเจดีย์จะไม่ล้ำออกนอกฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์ (ถ้าเงาล้ำออกไปถือว่าเป็นลางร้าย)ภายในเขตองค์พระเจดีย์ สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ไม่จำกัด(ไม่เคยเต็ม) เมื่อตีกลองใบใหญ่จากด้านหนึ่งของพระเจดีย์ จะไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากด้านตรงข้าม และไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใดก็จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ในบริเวณขององค์พระเจดีย์เลย  องค์พระเจดีย์ชเวซิกองนี้ตั้งอยู่บนพื้นราบ แต่เมื่อมองจากภายนอก จะคล้ายพระเจดีย์ตั้งอยู่บนที่สูง


. พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์
          พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องกษัตริย์ ประดับด้วยเพชร นิลและพลอยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่บ้านของพม่า ประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์คองบอง โดยคำว่า มหามัยมุนี แปลว่า ผู้รู้อันประเสริฐ ซึ่งชาวพม่าจะเรียกว่า มหาเมียะมุนี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่
          มีตำนานเล่าว่า พระมหามัยมุนี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์ มีขนาดความสูง 8 ศอก 1 คืบ(ประมาณ 3.83 เมตร) หนัก 6.5 ตัน ก่อนสร้างกษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบพระศาสนาไปภายหน้า โดยในอดีตแม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพอย่างไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีออกจากเมืองได้เลย เนื่องจากมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2325 รัชสมัยพระเจ้าโบดอพญาหรือคนไทยเรียกว่าพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์คองบอง ที่เมืองตียะไข่ได้ และสามารถอัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ โดยเลาะแยกเป็น 3 ส่วนนำลงเรือล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีไปจนถึงเมืองมัณฑเลย์ได้สำเร็จ พระมหามัยมุนีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
          ด้วยความเชื่อว่าพระมหามัยมุนี นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต เพราะด้วยเหตุที่ได้รับประทานพร (บางตำนานก็เล่าว่าได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า) จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย โดยทุกเช้า เวลาประมาณ 04.30 น. พระมหาเถระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธา จะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดี พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนถวายมาเช็ดจนแห้งสนิท พร้อมใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันดี เสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนมชีพอยู่จริง ๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกวันไม่เคยเว้น จนถึงทุกวันนี้กว่า 200 ปีแล้ว
          อนึ่ง องค์พระมหามัยมุนีมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์ ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไป ก็จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า "พระเนื้อนิ่ม" แต่น่าแปลกที่ว่า แม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการปิดทองที่พระพักตร์เลย

          และนี่คือ 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพม่า ที่เรานำมาแบ่งปันกัน เผื่อว่าใครที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศพม่า จะได้ไปกราบนมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิต ก็จะเป็นบุญกุศลช่วยให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง...สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น