วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กายบริหารแกว่งแขน

      กายบริหารแกว่งแขนนี้ เป็นการออกกำลังเพื่อบริหารร่างกายที่มีประโยชน์มากวิธีหนึ่ง หลังจากการค้นพบตำราโบราณ"ตะหมออี้จินจิน"หรือ"คัมภีร์แก้ไขเลือดลม" ของปรมาจารย์โพธิธรรม(ตะหมอ) และเผยแพร่ตำรานี้ออกมาที่มหานครเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน ก็มีผู้นิยมทำกายบริหารแกว่งแขนนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โรคที่ไม่มีทางรักษาหายได้โดยการแพทย์แผนปัจจุบัน ก็สามารถใช้การบริหารแบบง่ายๆนี้รักษาให้หาย ขาดได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าอัศจรรย์
      กายบริหารแกว่งแขนนี้ทำง่าย หัดง่ายและเป็นเร็ว มีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคได้รวดเร็วอีกด้วย โรคเรื้อรังทุกชนิดส่วนมากก็รักษาให้หายขาดได้โดยวิธีทำกายบริหารแบบนี้ อันที่จริงการเจ็บป่วยด้วยโรคชนิดใดก็ตาม ใช่ว่าจะเรื้อรังตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะต่อสู้กับโรคชนิดนั้น หรือไม่ หากเราตั้งใจเด็ดเี่ดี่ยวแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับโรคร้ายที่เกิดขึ้น ให้ถึงที่สุดแล้วละก็ เชื่อแน่เหลือเกินว่าเราจะชนะและหายจากโรคร้ายอย่างแน่นอน
       การฝึกกายบริหารแกว่งแขนนี้ต้องยืนตรง ขาทั้งสองข้างยืดตรง เข่าไม่งอ ปลายนิ้วเท้าออกแรงจิก
ยึดอยู่กับพื้น ให้เท้าทั้งสองข้างมีระยะห่างกัน เท่ากับความกว้างของช่วงไหล่ แล้วแกว่งแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้าและข้างหลัง ขณะที่แกว่งแขนไปข้างหลังให้ออกแรงมากหน่อย แล้วใช้แรงเหวี่ยง
แกว่งแขนไปข้างหน้าโดยไม่ต้องออกแรง แขนทั้งสองข้างเหยียดตรงไม่งอ สายตามองตรงไปข้างหน้า ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ อย่าวอกแวก ตั้งใจนับ 1 ,2,3...ไปเรื่อยๆ การฝึกครั้งแรกควรเริ่มทำตั้งแต่
200-300  ครั้งก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นตามลำดับจนถึง 1,000-2,000 ครั้ง ใช้เวลาในการบริหารประมาณครั้งละครึ่งชั่วโมง คือเช้า กลางวัน และค่ำ(แกว่ง 500 ครั้งใช้เวลาประมาณ 10 นาที)
     
เคล็ดลับ ๑๖ ประการ ของกายบริหารแกว่งแขน คือ
       ๑. ส่วนบนควรจะปล่อยให้ว่าง หมายถึง ส่วนบนของร่างกายคือศรีษะ ควรปล่อยให้ว่างเปล่า อย่า
คิดฟุ้งซ่าน ควรทำอย่างตั้งอกตั้งใจ มีสมาธิแน่วแน่
       ๒. ส่วนล่างควรจะให้แน่น หมายถึง ส่วนล่างของร่างกายใต้บั้นเอวลงไป ต้องให้ลมปราณเดินได้สะดวก เพื่อให้เกิดพลังที่สมบูรณ์ ฉนั้นคำว่า"ส่วนบนว่างส่วนล่างแน่น" จึงเป็นตัวสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารแกว่งแขน หากเวลาฝึกไม่สามารถเข้าถึงจุดนี้ ก็จะทำให้ได้ผลลดน้อยลงไปมากทีเดียว
       ๓. ศีรษะควรให้แขวนลอย หมายถึง ศีรษะของท่านจะต้องปล่อยสบายๆ ประหนึ่งแขวนลอยไว้ในอากาศ กล้ามเนื้อคอจะต้องปล่อยให้ผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ไม่ควรโน้มไปข้างหน้าหงายไปข้างหลัง หรือเอียงไปข้างๆ
       ๔. ปากควรปล่อยให้เงียบสงบตามปกติ หมายถึง ไม่ควรหุบปาก หรืออ้าปากไปตามจังหวะที่ออกแรงแกว่งแขน ไม่ควรให้ปากอ้าตามใจชอบ ควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยหุบปากเพียงเล็กน้อย คือไม่เม้มริมฝีปากจนแน่น
       ๕. ทรวงอกเหมือนปุยฝ้าย คือกล้ามเนื้อทุกส่วนบนทรวงอก ต้องให้ผ่อนคลายตามธรรมชาติ เมื่อกล้ามเนื้อไม่เกร็งก็จะอ่อนนุ่มเหมือนปุยฝ้าย
       ๖. หลังควรยืดตรงให้ตระหง่าน หมายถึงไม่แอ่นหน้าแอ่นหลัง หรือก้มตัวจนหลังโก่ง ต้องปล่อยแผ่นหลังให้ยืดตรงตามธรรมชาติ
       ๗. บั้นเอวควรตั้งตรงเป็นแกนเพลา หมายถึง บั้นเอวต้องอยู่ในลักษณะตั้งตรงเหมือนเพลารถ
       ๘. ลำแขนควรแกว่งไกว หมายถึงแกว่งแขนทั้งสองข้างไปมา
       ๙. ข้อศอกควรปล่อยให้ลดต่ำลงตามธรรมชาติ หมายถึง ขณะที่แกว่งแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้าและข้างหลัง อย่าให้แขนแข็งทื่อ ควรให้งอศอกเล็กน้อยตามธรรมชาติ
      ๑๐.ข้อมือควรปล่อยให้หนักหน่วง หมายถึง ขณะที่แกว่งแขนทั้งสองนั้นควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ข้อมือ เมื่อไม่เกร็งแล้ว จะรู้สึกคล้ายมือหนักเหมือนลูกตุ้มถ่วงอยู่ปลายแขน
      ๑๑. สองมือนั้นควรพายไปตามจังหวะแกว่งแขน หมายถึง ขณะที่แกว่งแขนทำคล้ายกับท่าพายเรือ
      ๑๒.ช่วงท้องควรปล่อยตามสบาย หมายถึง เมื่อกล้ามเนื้อท้องผ่อนคลายแล้วจะรู้สึกแข็งแกร่งขึ้น
      ๑๓.ช่วงขาควรผ่อนคลาย ในขณะที่ยืนให้เท้าทั้งสองแยกห่างกันเท่ากับความกว้างช่วงไหล่
      ๑๔.บั้นท้าย(ก้น) ควรให้งอนขึ้นเล็กน้อย ระหว่างทำกายบริหารนั้นต้องหดก้น(ขมิบ)คล้ายกับยก
สูงให้หดหายไปในลำไส้
      ๑๕.ส้นเท้าควรยืนถ่วงน้ำหนักเหมือนก้อนหิน หมายถึง การยืนด้วยส้นเท้าที่มั่นคง ไม่สั่นคลอน
      ๑๖.ปลายนิ้วเท้าทั้งสองข้างต้องงอจิกแน่นกับพื้น เพื่อยึดให้มั่นคง

   
หลักสำคัญของกายบริหารแกว่งแขน
      ๑. ยืนตรง เท้าทั้งสองข้างแยกออกจากกันให้มีระยะห่างเท่ากับช่วงไหล่
      ๒. ปล่อยมือทั้งสองข้าง ลงตามธรรมชาติ อย่าเกร็ง ให้นิ้วมือชิดกันหันอุ้งมือไปข้างหลัง
      ๓. ท้องน้อยหดเข้า เอวตั้งตรง เหยียดหลังผ่อนคลายกระดูก ลำคอ ศีรษะและปากให้ปล่อยไปตามสภาพธรรมชาติ
      ๔. จิกปลายนิ้วเท้ายึดเกาะพื้น ส่วนส้นเท้าให้ออกแรงเหยียบลงบนพื้นให้แน่น ให้แรงจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อที่โคนเท้า และท้องตึงๆเป็นใช้ได้
      ๕. สายตาทั้งสองข้าง ควรมองตรงไปยังจุดใดจุดหนึ่ง แล้วมองอยู่เป้าหมายจุดนั้นจุดเดียว สลัดความกังวลหรือความคิดฟุ้งซ่านต่างๆออกให้หมด ให้จุดสนใจมารวมอยู่ที่เท้าเท่านั้น
      ๖. การแกว่งแขนให้ยกมือแกว่งไปข้างหน้าอย่างเบาๆ หรือใช้คำว่าว่างและเบา ไม่ต้องออกแรง ความสูงของแขนที่แกว่งไปพยายามให้อยู่ในระดับที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนให้สูงเกินไป คือ
ทำมุมกับลำตัวประมาณ 30 องศา แล้วตั้งสมาธินับหนึ่ง สอง สาม ไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังอย่าลืมออกแรงส้นเท้าและลำขาด้วย เมื่อมือห้อยตรงแล้วก็แกว่งขึ้นไปข้างหลัง ต้องออกแรงหน่อย ตรงกับคำว่าแน่นหรือหนัก แกว่งจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อไม่ยอมให้มือสูงไปกว่านั้นอีก(ความสูงของแขนกับลำตัวประมาณ 60 องศา) ก็ปล่อยให้แขนแกว่งกลับลงมา
      การแกว่งแขนแต่ละครั้งจะมากหรือน้อยนั้น นอกจากอาศัยความอดทนแล้ว ยังขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคนว่าอ่อนแอหรือแข็งแรงเพียงใด อย่าใจร้อน อย่าฝืน แต่ก็ไม่ใช่ทำตามสบาย เพราะหากปล่อยตามใจชอบแล้วก็จะขาดความเชื่อมั่นต่อการออกกำลังกาย และจะไม่บังเกิดผล เมื่อเริ่มปฏิบัติอย่าออกแรงหักโหมมากเกินไป แกว่งไปตามปกติ ทำอย่างนิ่มนวลไม่ใช่แกว่งอย่างเอาเป็นเอาตาย ควรทำจิตใจให้เป็นสมาธิ อย่าฟุ้งซ่าน ถ้าหากไม่มีสมาธิแล้ว เลือดลมก็จะหมุนเวียนสับสนไม่เป็นระเบียบ

เหตุใดกายบริหารแกว่งแขนจึงบำบัดโรคได้
        สิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขัดแย้งกันภายในร่างกายของคนเรา จนก่อให้เกิดความไม่สบายให้แก่ร่างกายนั้น แพทย์จีนแผนโบราณกล่าวว่า เกิดจาก"เลือดลม" เป็นต้นเหตุ หากเลือดลมภายในร่างกายเราผิดปกติมีปัญหา โรคต่างๆมากมายก็จะเกิดขึ้นกับเราทันที เริ่มแรกจะทำให้เรารับประทานอาหารได้น้อยลง นอนหลับน้อยลง ต่อไปก็จะกระทบกระเทือนถึงสภาพของร่างกาย คือทำให้ซูบผอม อ่อนแอ เป็นต้น เมื่อเราทำให้เลือดลมเดินสะดวกไม่ติดขัดแล้ว โรคร้ายทั้งปวงก็จะหายไปเอง โดยอาศัยหลักดังกล่าวนี้ การบริหารแกว่งแขนก็สามารถเปลี่ยนแปลงเลือดลม แก้ไขสภาพของร่างกายให้สมบูรณ์ได้อย่างถูกต้องและตรงจุด

อ้างอิง หนังสือกายบริหารแกว่งแขน / โชคชัย  ปัญจทรัพย์..พ.ศ.๒๕๔๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น